วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แฉขบวนการดิสเครดิต 20 โรงเรียนดัง แอบอ้างเป็นผู้ปกครอง



แฉขบวนการดิสเครดิต 20 โรงเรียนดัง แอบอ้างเป็นผู้ปกครอง

วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม 2555 เวลา 12:29 น.
วันนี้ (25 พ.ค.) ที่หอประชุมกองทัพเรือ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555 ตอนหนึ่งว่า ตนอยากให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ไปดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการรับนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ประจำปีการศึกษา 2555 ให้สังคมได้เข้าใจตรงกัน ภายหลังเกิดกรณีนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ออกมาประท้วงให้โรงเรียนรับเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 โดยต้องยืนยันว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยึดตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ แต่อย่างไรก็ตามจากปัญหาที่เกิดขึ้น สพฐ.ได้เตรียมการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การรับนักเรียนในปีต่อไปให้สอดรับกับความต้องการของจำนวนนักเรียนให้มากขึ้น ซึ่งในส่วนของนักเรียนกลุ่มดังกล่าวที่ไม่ได้เรียนต่อโรงเรียนเดิม อาจมีสิทธิ์ย้ายกลับมาเรียนได้ในปีต่อไป
ดร.ชินภัทร กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชาฯ ยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ร้องเรียนกรณีการเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะใน 20 โรงเรียนนั้น ในต้นสัปดาห์หน้าตนจะเชิญคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาหารือ ก่อนจะเดินทางเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อ ป.ป.ช. ในวันพุธที่ 30 พ.ค.นี้ ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ปกครองฯ ได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ด้วยนั้น ตนได้ส่งเจ้าหน้าที่ชี้แจงกฎระเบียบการรับนักเรียนของ สพฐ.ไปแล้ว ซึ่งทางพล.อ.เปรม ก็เข้าใจและประสานให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าว และตนก็ได้ชี้แจงให้นายยงยุทธ เข้าใจแล้วเช่นกัน ว่าไม่สามารถเพิ่มจำนวนรับนักเรียนในชั้น ม.4 ได้อีก อย่างไรก็ตามตนจะเดินทางเข้าชี้แจงพลเอกเปรม อีกครั้งด้วยตัวเอง
ขณะที่ นายวัชรินทร์ ศรีบุรินทร์ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) และคณะตัวแทนผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา 4 ภาค แถลงข่าวเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษา 20 โรงเรียนที่ถูกกลุ่มเครือข่ายผู้ปกครองฯ กล่าวหาว่า เรียกเงินแป๊ะเจี๊ยะ ในการรับเด็กเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ประจำปีการศึกษา 2555 ว่า ทางสมาคมฯ ได้ตรวจสอบการรับนักเรียนของโรงเรียนในกลุ่มดังกล่าวแล้ว ในเบื้องต้นไม่พบการกระทำผิดหลักเกณฑ์การรับนักเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งกำหนดให้รับนักเรียนร้อยละ 80 ของนักเรียนชั้นม.4 ไม่ใช่รับนักเรียนร้อยละ 80 ของนักเรียนที่จบการศึกษาในชั้นม.3 ทั้งหมด ขณะเดียวกัน ส.บ.ม.ท.ได้ตรวจสอบกลุ่มผู้ปกครองที่ออกมาร้องเรียน พบบางส่วนไม่ใช่ผู้ปกครองตัวจริงแต่แอบอ้างมาด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ในการลดความน่าเชื่อถือของโรงเรียน เนื่องจากกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวเป็นผู้ปกครองเป็นกลุ่มธุรกิจที่ถูกปฏิเสธจากทางโรงเรียนทำให้เกิดความไม่พอใจจึงพยายามกดดันและโจมตีโรงเรียน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องที่สมาคมฯ ยอมไม่ได้ ดังนั้นในเร็วๆ นี้ จะมอบให้ฝ่ายกฎหมาย ส.บ.ม.ท.ไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กล่าวหาที่นำข้อมูลเท็จมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนที่สถานีตำรวจท้องที่ของโรงเรียนทั้ง 20 แห่ง
"ผมยืนยันว่าการออกมาแถลงข่าวครั้งนี้ไม่ใช่ต้องการปกป้องหรือปฏิเสธแทนผู้อำนวยการโรงเรียนที่ถูกกล่าวหา ขณะเดียวกันสมาคมฯ ยินดีเข้าไปตรวจสอบหากมีการแจ้งเบาะแสว่าผู้อำนวยการโรงเรียนใดเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะ แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้สมาคมฯ ได้ตรวจสอบในเบื้องต้นแล้ว ดังนั้นฐานะที่เป็นองค์กรวิชาชีพอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้อง และอยากขอให้หน่วยงานต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชนได้ร่วมกันตรวจสอบกลุ่มผู้เรียกร้องว่ามีผลประโยชน์ใดทับซ้อนหรือไม่" นายก ส.บ.ม.ท. กล่าว
ส่วน นายรัตน์ชัย ศรสุวรรณ ที่ปรึกษากฎหมาย ส.บ.ม.ท. กล่าวว่า ตนมีหลักฐานเป็นเอกสารที่ยืนยันได้ว่ามีกลุ่มบุคคลซึ่งแอบอ้างตัวเป็นผู้ปกครอง มีส่วนเกี่ยวข้องในการเรียกรับผลประโยชน์จากทางโรงเรียน ให้ตอบรับการบริการ ในการจ้างเหมาครูต่างประเทศเพื่อสอนภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียน แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับความยินยอมจากผู้อำนวยการโรงเรียน จึงมีการกระทำต่างๆ ในลักษณะการข่มขู่และกดดัน อาทิ การส่งเอกสารโดยกล่าวอ้างถึงหน่วยงานระดับชาติหลายหน่วยงาน อาทิ ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น (ภตค.) ร่วมกับสภาหอการค้าไทย สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฯลฯ ทั้งนี้เบื้องต้นตนจะทำหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานที่ถูกกล่าวอ้างทั้งหมดว่ากลุ่มบุคคลที่แอบอ้างมีส่วนเกี่ยวข้องในหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ พร้อมกันนั้นก็จะพิจารณาฟ้องร้องหมิ่นประมาท ฐานที่กล่าวหาผู้อำนวยการโรงเรียนเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ และอาจพิจารณาแจ้งความในประเด็นกรรโชกทรัพย์ด้วย
นายวิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนพรตพิทยพยัต เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 1 ใน 20 โรงเรียนที่ถูกกล่าวหาเรียกรับเงิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ถูกกลุ่มบุคคลเข้ามาแอบอ้างหน่วยงานองค์กรระดับชาติเพื่อให้โรงเรียนยอมรับข้อตกลงในการว่าจ้างครูต่างชาติเพื่อสอนภาษาอังกฤษ แต่ทางโรงเรียนปฏิเสธ เนื่องจากได้รับข้อมูลว่าบริการที่จัดหามานั้นไม่ได้คุณภาพ ทั้งนี้การปฏิเสธดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มบุคคลกดดันโรงเรียนในหลายรูปแบบ กระทั่งนำมาถึงการฟ้องร้องโรงเรียน ทั้ง 20 แห่งนี้ด้วย ดังนั้นตนอยากเรียกร้องสังคมร่วมตรวจสอบกลุ่มบุคคลที่มีเป้าหมายโจมตีโรงเรียน และกระทำการโดยเอานักเรียนเป็นตัวประกันซึ่งเป็นสิ่งไม่เหมาะสม
ด้าน นายปรีชา จิตรสิงห์ ประธานคณะกรรมการรับนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กล่าวว่า ขณะนี้ทางโรงเรียนได้เรียกนักเรียนมารายงานตัวเพิ่มอีก 3 คน เนื่องจากไม่มารายงานตัว 1 คนและลาออกไปเรียนต่อที่อื่นอีก 2 คน ซึ่งขณะนี้นักเรียนที่เข้าร่วมประท้วงที่ลำดับคะแนนถึงสามารถเรียกเข้าเรียนได้แล้ว 3 คน ส่วนอีก 13 คนได้มายื่นความประสงค์ให้คณะกรรมการเยียวยาจัดที่เรียนให้และยอมที่จะไปเรียนในโรงเรียนที่จัดให้แล้ว อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของแกนนำที่นำเด็กประท้วงนั้น เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีการอ้างหน่วยราชการจริง ซึ่งสมัยที่ตนเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาก็พบว่ามีพฤติกรรมดังกล่าว..

โรงเรียนเอกชนโวย หนังสือเรียนห่วยหลุดรุ่งริ่ง


โรงเรียนภาคเอกชนโวย หนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาฯไม่มาตรฐาน เปิดออกมาหลุดออกจากเล่มเป็นชิ้นๆ
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่โรงเรียนพงศ์สิริวิทยา หมู่ 2 ต.หนองไม้แดง อ.เมืองชลบุรี  ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบหนังสือเรียนที่ผลิตออกมาจำหน่ายให้กับนักเรียนทั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เด็กๆไม่สามารถที่จะเรียนได้อย่างสะดวก  เนื่องจากเวลาเปิดหนังสือ หน้ากระดาษจะหลุดจากเล่มออกมาเป็นแผ่นๆ  ทำให้ต้องเสียเวลามานั่งเรียงหน้ากันใหม่

จากการสอบถามนายณรงค์เดช  บุญสาง อายุ 23 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการดูแลด้านหนังสือเรียน กล่าวว่า ทางโรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น และเพิ่งเปิดภาคเรียนใหม่ พบว่าหนังสือที่สั่งมาจากทางกระทรวงศึกษาธิการ และศูนย์ส่งเสริมวิชาในปีนี้มีปัญหา โดยหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์  สุขศึกษา และแบบฝึกหัดภาษาอังกฤษ เวลาเปิดหน้ากระดาษออกมาจะหลุดออกจากเล่มเป็นจำนวนมาก  ส่วนสาเหตุคาดว่าน่าจะเกิดจากการเร่งตีพิมพ์   จึงฝากวอนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการรับผิดชอบ เพื่อจะให้การเรียนการสอนของเด็กนักเรียนและครูเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

น.ศ.เครียดสอบตกผูกคอตายอนาถ


น.ศ.เครียดสอบตกผูกคอตายอนาถ

วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2555 เวลา 19:27 น.
เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ผู้สื่อข่าวประจำ จ.อุบลราชธานี รับแจ้งว่ามีคณะอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำโดย ศ.ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เดินทางไปเคารพศพนายศิวะดล มั่นคง อายุ 24 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เนื่องจากใช้เชือกไนล่อนผูกคอตัวเองจนเสียชีวิต เมื่อช่วงเย็นวันที่ 25 พ.ค. ที่บ้านเลขที่ 421 หมู่ 15 ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและญาติ ขณะนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศล ที่ศาลานาบุญ วัดป่าแสนอุดม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ท่ามกลางความไม่พอใจของผู้ปกครองและญาติพี่น้อง พร้อมนำพวงพรีดวางหน้าศพร่วมไว้อาลัย
ขณะที่ผู้ปกครองและญาติต่าง เชื่อว่ามีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง น่าจะเป็นสาเหตุทำให้นายศิวะดล ตัดสินใจผูกคอตาย เนื่องจากผู้ตายได้เขียนชื่ออาจารย์คนดังกล่าวไว้ที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้างก่อนจะตัดสินใจจบชีวิตด้วยการผูกคอตายที่บ้านพัก ท่ามกลางความโศกเศร้าของเพื่อนนักศึกษาและคนใกล้ชิด โดยเฉพาะนางสงบ กากแก้ว มารดานายศิวะดล ร้องไห้เสียใจตลอดเวลา เนื่องจากผู้ตายเป็นลูกชายเพียงคนเดียว
จากนั้น ศ.ดร.นงนิตย์ ได้เข้าไปพูดคุยและทำความเข้าใจถึงระบบการเรียนของมหาวิทยาลัย จนนางสงบ กากแก้ว ใจเย็นลงและพร้อมรับฟังความรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ศ.ดร.นงนิตย์ มอบหมายให้อาจารย์ที่ถูกอ้างชื่อเข้าไปพูดคุยกับนางสงบ นานกว่า 1 ชั่วโมงจนกระทั่ง นางสงบรับฟังและยอมรับว่านายศิวะดล ด่วนตัดสินใจ
ทั้งนี้ อาจารย์คนดังกล่าวกล่าวด้วยว่า นายศิวะดล เป็นคนมีนิสัยเรียบร้อยตั้งใจเรียน แต่ในช่วงเรียนซัมเมอร์ที่ผ่านมานายศิวะดล ลงเรียน 2 วิชา โดยวิชาเอกเทศสัญญา กฎหมายลักษณะตัวแทนนายหน้า และหุ้นส่วนบริษัท เป็นวิชาบังคับ มีตนเป็นอาจารย์ประจำวิชา และ จะต้องสอบได้คะแนน 60 เปอร์เซ็นต์ จึงจะผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน แต่นายศิวะดล สอบไม่ผ่าน เพราะทำข้อสอบได้เพียง 56 คะแนน และขาดไปเพียง 4 คะแนน จากนั้นนายศิวะดล ทราบว่าสอบไม่ผ่าน จึงโทรศัพท์ติดต่อมาสอบถาม จึงแนะนำไปว่าให้นำเอกสารมาขอรักษาสถานภาพนักศึกษา แต่เนื่องจากนายศิวะดล นำเอกสารไม่ครบ จึงให้กลับเอาเอกสารมาเพิ่มเติมใหม่ แต่หลังจากนั้นนายนายศิวะดล กลับหายไปและไม่ติดต่อกลับมาอีกเลย จนกระทั่งมาทราบว่าผูกคอฆ่าตัวตายแล้ว
“คิดว่าเป็นการด่วนตัดสินใจ และรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งที่สามารถแก้ปัญหาได้ในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และพยายามจะช่วยเหลือ แต่หลังจากนั้นไม่ได้รับการติดต่ออีกเลย จนกระทั่งทราบว่า ทำร้ายตัวเองเสียชีวิตแล้วและหลังจากได้พูดคุยจนเป็นที่เข้าใจแล้ว มารดาผู้ตายได้ให้ทุกคนอโหสิกรรม เพื่อไม่ให้เป็นบาปกรรมแก่กันต่อไป และไม่ขอให้สัมภาษณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น”อาจารย์คนดังกล่าวกล่าวทิ้งท้าย.

รับนักเรียนปัญหาที่แก้ไม่รู้จักจบ


เป็นปัญหามาทุกปีสำหรับการรับนัก เรียนชั้น ม.1 และ ม.4 โดยเฉพาะเรื่องจำนวนรับกับความต้องการที่ยากจะลงตัวซึ่งพุ่งเป้าไปที่โรงเรียนที่มีชื่อเสียง เรียกว่าดีมานด์-ซัพพลายไม่สมดุล ถึงแม้กระทรวงศึกษาธิการจะมีความพยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ไม่อาจขจัดปัญหาให้หมดสิ้นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้ได้เกิด “บดินทร์โมเดล” ที่นักเรียน ม.3 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งไม่ได้รับสิทธิให้เรียนต่อชั้น ม.4 ที่โรงเรียนเดิมออกมาเรียกร้องโดยอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ในประเด็นความเสมอภาคทางการศึกษา กระทั่งเกิดการอดข้าวประท้วง
กรณีนี้จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักระหว่างการรักษากฎกติกาของการได้รับสิทธิในการเรียนต่อโรงเรียนเดิมซึ่งเป็นกติกาที่ปฏิบัติสืบต่อกันมากับสิทธิอันชอบธรรมของนักเรียนเดิมว่าควรจะยึดอะไรเป็นหลัก เรื่องนี้หากจะให้ถกเถียงคงหาจุดลงเอยได้ยาก จากปัญหาดังกล่าว รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล ในฐานะที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ มีมุมมองที่น่าสนใจว่า ปัญหาในภาพรวมของเด็กนักเรียนที่ไม่มีที่เรียนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกปี และหากถามว่าทำไมปัญหานี้จึงเกิดขึ้นทุกปี คงต้องบอกว่า เพราะปัญหาในแวดวงการศึกษามีเยอะทั้งเด็กฝาก แป๊ะเจี๊ยะ เด็กไม่มีที่เรียน ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเกิดเพียงช่วงนี้พอเลยไปก็เงียบไม่มีการพูดถึงวิธีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง


จะว่าไปแล้วการจะแก้ปัญหาเด็กฝาก เด็กไม่มีที่เรียน แป๊ะเจี๊ยะได้จะต้องมองไปให้ถึงสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งมาจากหลายส่วน ประการแรกเพราะทุกคนมองภาพรวมว่ามีที่นั่งเรียนเพียงพอ แต่ในความเป็นจริงมาตรฐานโรงเรียนไม่เท่ากัน และโรงเรียนที่เด็กอยากจะเข้ามีที่นั่งไม่เพียงพอกับจำนวนที่โรงเรียนเปิดรับ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีเกลี่ยไปโรงเรียนอื่น ซึ่งลักษณะการเกลี่ยตามตัวเลขมีความเป็นไปได้ แต่การเกลี่ยตามความเป็นจริงของการเรียนเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อเกลี่ยไปที่หนึ่ง แต่สถานที่ทำงานของผู้ปกครอง และบ้านอยู่ไกลจากโรงเรียนมาก ต้องเสียเวลาในการเดินทาง หรือไม่ก็ต้องขึ้นรถ 2-3 ต่อกว่าจะถึงโรงเรียน ซึ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของความรู้สึก แม้จะยอมรับในกฎเกณฑ์ได้ก็ตาม ดังนั้นไม่ว่าแก้ปัญหาโดยการทำโรงเรียนคู่ขนาน การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนดัง  หรือการจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียม ก็เป็นการให้ความหวังแก่ผู้ปกครองปีต่อ ๆ ไป แต่ถ้าเริ่มทำตามแนวทางที่วางไว้ตั้งแต่ปีนี้ถึงแม้จะสำเร็จในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เมื่อถึงเวลานั้นปัญหาเด็กฝาก หรือไม่มีที่เรียนจะลดน้อยลงได้ ซึ่งนั่นคือการแก้ปัญหาของผู้ที่เดือดร้อนได้อย่างแท้จริงประการที่สอง คือ กลุ่มเด็กที่ถูกเบียดบัง เพราะทุกครั้งมักจะได้ยินว่ามีนโยบายไม่มีเด็กฝาก แต่ในความเป็นจริงก็จะมีเด็กฝากในรูปแบบต่าง ๆ หาช่องว่าง เด็กอุปการคุณ มีข้อยกเว้นต่าง ๆเกิดขึ้นมา แม้จะมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดอย่างไรแต่ก็จะมีการแทรกเข้าไปให้ได้ ดังนั้นพอเด็กกลุ่มนี้ได้เข้าไปก็จะไปเบียดบังกับคนที่จะได้เข้าเรียนจริงหากมีการเรียงลำดับคะแนน 
ประการที่สาม คือ การดูจากเกณฑ์ต่าง ๆ ที่โรงเรียนตั้งไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรณีของการรับนักเรียน ม.3 เดิม ขึ้นเรียนชั้น ม.4 โดยโรงเรียนจะประกาศให้เด็ก
รับรู้ล่วงหน้า  แต่เด็กมักจะตื่นตัวเมื่ออยู่ชั้น ม.2 หรือ ม.3 ถึงแม้จะเน้นที่คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นหลัก แต่บางแห่งก็ให้โอกาสเด็กที่ทำกิจกรรมแต่ก็มักมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เช่น บางปีเน้นตะกร้อหญิงถึงแม้มีเด็กที่เก่งฟุตซอลระดับตัวแทนภาคมาสมัครก็ยังไม่ได้ เพราะไม่ตรงกับนโยบายของโรงเรียน ซึ่งเกณฑ์อย่างนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่สามารถวางแผนให้ตัวเองได้
นอกจากนี้ในส่วนของเกณฑ์การรับ ม.4 ในสัดส่วน  80 : 20 นั้น ก็ต้องมองตั้งแต่การรับเด็ก ม.1 ถ้ารับเข้ามา 300 คน แต่พอขึ้น ม.4 ที่นั่งกลับน้อยลงเหลือ 200 คน ก็ต้องมีนักเรียนหลุดออกไปถึง 100 คน และใน 200 คน นี้ยังต้องมาคิดอีกว่าจะให้เรียนต่อได้ 80% โดยให้เหตุผลว่า คนที่ไม่ได้เรียนต่อชั้น ม.4 อยากให้ไปเรียนอาชีวศึกษา เพราะประเทศขาดกำลังคนด้านอาชีวะอยู่มาก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ตนไม่ชอบเลย เพราะการจะไปกำหนดชีวิตเด็กว่าจะต้องเลือกเรียนอะไร ต้องสามารถบอกได้ว่าเรียนอาชีวะแล้วดีกว่าต่อชั้น ม.4 อย่างไร ต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้ หรือสามารถรับประกันความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ได้ ไม่เกิดปัญหาการทะเลาะวิวาท หรือตีกัน ดังนั้นตนเห็นว่าเมื่อมีการรับเด็ก ม.1 เข้ามา 300 คน ก็ควรให้ทั้ง 300 คน ได้เรียนต่อ ม.4 โดยทางโรงเรียนต้องคำนวณตัวเลขตรงนี้ให้ดี ส่วนเด็กจะเรียนต่อหรือไม่ต้องให้เด็กตัดสินใจเอง ไม่ใช่บอกว่าถ้าให้เด็กขึ้น ม.4 โดยอัตโนมัติทุกคนแล้วเด็กจะไม่ตั้งใจเรียน เพราะการที่เด็กจะตั้งใจเรียนหรือไม่มีปัจจัยหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนมีกึ๋นพอหรือไม่ที่จะทำให้เด็กตั้งใจเรียน โดยเฉพาะครูผู้สอน จะโทษแต่เด็กเรียนไม่ดีไม่ได้ เราต้องดูการสอนของครูด้วย
ในทางปฏิบัติถ้าโรงเรียนสามารถรับเด็ก ม.3 เรียนต่อ ม.4 โรงเรียนเดิมได้ทั้งหมดปัญหาที่เกิดขึ้นจะหมดไป แต่ถ้าบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะครูไม่ค่อยมี งบประมาณก็น้อย ห้องเรียนไม่พอ ก็ต้องมาพิจารณากันตั้งแต่ ม.1 หากห้องเรียนไม่พอแล้วไปขยายห้องเพิ่ม เมื่อเด็กจบ ม.3 อย่าคิดว่าเด็กจะลดลงเอง หรือให้ไปเรียนอาชีวะก็ได้ เพราะถ้าคิดอย่างนั้นจะเกิดปัญหาเหมือนกับสถาบันอุดมศึกษาในเวลานี้ที่มีที่นั่งเรียนเหลือเฟือ เพราะไปกระจุกตัวอยู่ในบางสาขาเท่านั้น 
แนวทางแก้ปัญหานี้คงไม่ใช่แค่เกลี่ยนักเรียนไปเรียนโรงเรียนอื่น เพื่อดูแลเด็กให้มีที่เรียนเท่านั้น เพราะปัญหาจะยังไม่จบหากไม่พอใจโรงเรียนที่จัดสรรให้ แต่ถ้าเป็นโรงเรียนที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกันก็คงพอรับได้ เช่น ไม่ได้บดินทร์ หอวังได้หรือไม่ ซึ่งความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นแนวทางที่จะพัฒนาโรงเรียนคู่ขนานต้องเริ่มได้แล้ว โดยต้องออกมาบอกแผนการพัฒนาให้ชัดเจน เช่น เวลานี้มีหลายโรงเรียนที่มีครูเยอะแต่เด็กไม่ไปเรียน ให้เอาครูเหล่านี้มาช่วยราชการที่โรงเรียนที่เด็กอยากไปได้หรือไม่ โดยอาจให้ช่วยงานธุรการบ้าง เช่น ตรวจการบ้านให้เด็ก ซึ่งน่าจะได้ประสบการณ์และเรียนรู้ว่าการสอนของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทำอย่างไร เพื่อนำกลับไปสอนนักเรียนในโรงเรียนตนเอง
อย่างไรก็ตามหากยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แผนการพัฒนาโรงเรียนยังเป็นแค่แผนโดยไม่มีการขับเคลื่อน รศ.ดร.สุขุมบอกว่า ฟันธงได้เลยว่าปัญหาเด็กไม่มีที่เรียน เด็กฝากไม่ลดลง แต่กลับจะหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะเมื่อมีการตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมา แต่ละปีก็จะมีคนพยายามเล็ดลอด หาช่องทางต่าง ๆ หากถามว่าวันนี้มีรัฐมนตรี หรือนักการเมืองคนใดจะฝากเด็กบ้าง บอกได้เลยว่าไม่มี แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ฝาก ทั้งนี้เพราะไม่ได้ทำเองแต่มีมือทำให้ เพราะถ้าจะให้ฝากเองจริง ๆ จะมีรัฐมนตรีคนไหนจะกล้าเซ็นไปฝากบ้าง ไม่มีทาง เพราะไม่เคยฝากเอง.
credit : K.อรนุช วานิชทวีวัฒน์ from http://www.dailynews.co.th/education/117371

ร.ร.หอวังแจก New iPad ฟุ้งใช้เรียนเป็นที่แรก



ร.ร.หอวังแจก New iPad ฟุ้งใช้เรียนเป็นที่แรก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
       ร.ร.หอวัง แจก New iPad ให้เด็ก 160 คน ตามโครงการห้องเรียนพิเศษ โวเป็นโรงเรียนแรกในประเทศที่นำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน
       วันนี้ (28 พ.ค.) ดร.พชรศ์ ตรีเทพา ผอ.โรงเรียนหอวัง และ น.ส.สำอางค์ เที้ยธิทรัพย์ รอง ผอ.กลุ่มบริหารวิชาการโรงเรียนหอวัง ทำการแจก New iPad จำนวน 160 เครื่อง ให้แก่เด็กนักเรียนห้องพิเศษชั้น ม.1 และ ม.4 ซึ่งคัดนักเรียนคะแนน 3.00 ขึ้นไป และเก่งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จำนวน 160 คน ตามโครงการห้องเรียนพิเศษ ที่ใช้ New iPad เป็นสื่อการเรียนการสอนพัฒนาการศึกษา
     
       ดร.พชรศ์ เผยว่า จุดเริ่มต้นของโครงการห้องเรียนพิเศษ เป็นโครงการเสริมศักยภาพ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี มาจากกลุ่มผู้ปกครองของเด็กนักเรียนได้พบปะหารือกับกลุ่มผู้บริหารและคณาจารย์โรงเรียนหอวัง ว่า อยากให้บุตรหลาน ได้ใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปกับการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มทักษะด้านต่างๆ ในการเรียนทุกวิชา ก่อนกลุ่มผู้ปกครองได้บริจาคเงินประมาณ 4 ล้านบาท จากนั้นโรงเรียนหอวังจึงใช้งบประมาณดังกล่าวมาปรับปรุงห้องเรียน และซื้อ New iPad จำนวน 320 เครื่อง โดยซอฟต์แวร์การเรียนการสอนนั้น ม.จุฬาฯ ร่วมออกแบบด้วย ดังนั้น จึงทำการคัดเลือกเด็กนักเรียนคะแนน 3.00 ขึ้นไปและเก่งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แบ่งเป็นห้องพิเศษชั้น ม.1 จำนวน 2 ห้อง ห้องละ 40 คน ส่วนห้องพิเศษ ม.4 จำนวน 2 ห้อง ห้องละ 40 คน และครูจำนวน 160 ท่าน โดยโรงเรียนหอวังเป็นโรงเรียนแรกในประเทศไทยที่นำ New iPad มาเป็นสื่อการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาเด็กนักเรียน ม.1 และ ม.4
      
      

สพฐ. ยอม ให้ 5 ร.ร.ที่มีปัญหารับนร. ม.4 เปิดรอบบ่ายเป็นกรณีพิเศษ

 สพฐ. ยอม ให้ 5 ร.ร.ที่มีปัญหารับนร. ม.4 เปิดรอบบ่ายเป็นกรณีพิเศษ ให้นักเรียนแจ้งความจำนงค์ที่ร.ร.ภายใน 5 มิ.ย. 
       นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แถลงข่าวว่า กรณีนักเรียนไม่สามารถเข้าเรียนต่อในชั้น ม.4 ในร.ร.เดิมได้ ทาง สพฐ.พยายามหาทางออกที่ดีที่สุด โดยเสนอให้นักเรียนที่ไม่มีคุณสมบัติเรียนต่อที่เดิมได้ ไปเรียนในโรงเรียนคู่พัฒนาและโรงเรียนเครือข่าย เพื่อให้โรงเรียนคู่พัฒนามีคุณภาพเท่ากับโรงเรียนแม่ และจะให้สร้างโรงเรียนคู่แฝด เช่น มีโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี ) เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง เพื่อรองรับความต้องการโรงเรียนบดินทรฯของนักเรียนในพื้นที่
       สำหรับนักเรียนและผู้ปกครองร.ร.บดินทรเดชาฯ ได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรี เพื่อขอให้ช่วยเหลือนั้น ซึ่งพล.อ.เปรม ก็เห็นใจนักเรียน อยากให้มีโอกาสได้เข้าเรียนและได้มอบให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รับไปดำเนินการ ซึ่งจากที่ตนได้โทรศัพท์ไปหารือกับนายยงยุทธถึงเรื่องนี้แล้ว ทราบว่าพล.อ.เปรม ได้ฝากนายยงยุทธ ไปถึงนายกรัฐมตรี ว่า “รัฐบาลน่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะช่วยเด็กคือช่วยชาติ” และเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ตนก็ได้เดินทางไปบ้านสี่เสาเทเวศร์ และได้พบกับนายทหารคนสนิทของพล.อ.เปรมเพื่อรับฟังแนวคิดในเรื่องนี้แล้ว หลังจากนั้นก็ได้มาหารือกับผู้บริหารสพฐ.เพื่อหาแนวทางแก้ไขไม่ให้ปัญหายืดเยื้อ
       
       นายชินภัทร กล่าวว่า เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้ปัญหาเยือเยื้อต่อไป แต่ก็ไม่ถือว่าทำผิดกติกาสพฐ.จะแก้ปัญหา โดยการให้ร.ร.ที่ยังมีปัญหาการับนร. ม.4 จำนวน 5 โรง คือ ร.ร.บดินทรเดชาฯ ร.ร.นวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบปทุมธานี และโรงเรียนในจังหวัดอุดรธานี อีก 3 แห่งคือ ร.ร.อุดรพิทยานุกูล ร.ร.อุดรพิชัยรักษ์พิทยา ร.ร.สตรีราชินูทิศ เปิดรอบบ่ายเป็นกรณีพิเศษ ให้กับนักเรียน ม. 3 ที่ถูกคัดออก แต่ยังมีความประสงค์แน่วแน่ต้องการจะกลับมาเรียนที่โรงเรียนเดิม 
       
       “ให้นักเรียน กลุ่มนี้ ทั้งหมดไปรายงานตัวที่โรงเรียนเดิมภายในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ แต่ขอเน้นว่า จะรับเฉพาะนักเรียน ม.3 เดิมเท่านั้น โดยให้โรงเรียนจัดทำแผนรับนักเรียนเสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษา และคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา หากโรงเรียนต้องการปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมก็ให้ทำแผนเสนอมาที่สพฐ. ทั้งนี้ ผมขอยืนยันว่า สพฐ.พยายามเต็มที่แล้วก็ขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง นักเรียน จะรับเงื่อนไขนี้ได้หรือไม่ แต่ขอย้ำว่าอเป็นแนวทางที่ดีที่สุดแล้ว เพราะการรับกนร.รอบปกติไม่สามารถรับนักเรียนได้เพิ่มอีกด้วยขนาดห้องเรียนที่มีจำกัด แต่เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสตามความมุ่งมั่นและศรัทธาของตัวเอง สพฐ.จึงตัดสินใจให้เฉพาะโรงเรียน 5 แห่งนี้เปิดรอบบ่ายเป็นกรณีพิเศษ”
       นายชินภัทร กล่าวต่อว่า สำหรับการเรียนรอบบ่ายนั้น จะเริ่มเรียนประมาณคาบที่ 5 ถึงคาบที่ 9 หรือประมาณ 12.00- 17.00น. เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ห้องเรียนรอบปกติเริ่มว่างลง แต่นักเรียนต้องมาเรียนวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 8.00-12.00 น. เพื่อให้เวลาเรียนครบถ้วนตามหลักสูตร ส่วนการรับนักเรียนระดับ ม.1 นั้น จะไม่มีการเปิดรอบบ่าย โดยนักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียนให้ไปแจ้งความจำนงค์ขอรับการจัดสรรที่เรียนได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อจัดหาที่เรียนในโรงเรียนคู่พัฒนาและโรงเรียนเครือข่ายต่อไป และให้รายงานตัวภายในวันที่ 5 มิ.ย.นี้เช่นกัน

เครือข่ายผู้ปกครองชลชาย ONLINE