วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิธีการประกาศผลสอบ เบญจม

วิธีประกาศผลสอบ ม.1 และ ม.4 ของโรงเรียนบดินทร์เดชา สิงหเสนี 2555

ผู้ปกครอง ค้าน ใช้ O-Net จบช่วงชั้น ชี้โยนภาระมาที่เด็ก


ผู้ปกครอง ค้าน! ใช้ O-Net จบช่วงชั้น ชี้โยนภาระมาที่เด็ก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์8 พฤษภาคม 2555 17:47 น.
       สพฐ.ชงแนวทางใช้คะแนน O-Net ส่วนหนึ่งประเมินจบช่วงชั้น 2 แนวทางถามความเห็นสังคม แนวทางแรก เป็นการตัดเชือก ไม่ได้คะแนนขั้นต่ำตามเกณฑ์ ไม่ให้จบ ส่วนอีกแนวทางนำ O-Net มาถ่วงน้ำหนัก GPA ด้าน ตัวแทนผู้ปกครอง ครู ค้าน เพราะซ้ำเติมปัญหาเด็กแห่ติว ชี้ โยนภาระคุณภาพการศึกษาให้มาตกที่เด็ก
     
       ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลส สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดเสวนา เรื่อง “การนำใช้ผลการสอบ O-Net เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของการจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน” โดย นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.ได้นำเสนอแนวทางการใช้คะแนน O-Net มาเป็นหนึ่งของการประเมินจบช่วงชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 เป็น 2 ตัวอย่าง โดยแนวทางแรก ใช้ในลักษณะของคะแนนขั้นต่ำที่นักเรียนต้องทำให้ได้ มิฉะนั้น จะไม่ได้รับการพิจารณาให้จบช่วงชั้น เพราะฉะนั้น ตามแนวทางนี้ นักเรียนจะต้องผ่านการประเมินรายวิชาของสถานศึกษา ขณะเดียวกัน ก็ต้องได้คะแนนO-Net ตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดทั้งคู่ จึงจะได้รับการประเมินให้จบช่วงชั้น ซึ่ง สพฐ.เสนอให้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของคะแนน O-Net ขั้นต่ำอยู่ที่ 20.01 คะแนน ส่วนแนวทางที่ 2 จะเป็นการนำคะแนน O-Net มาถ่วงน้ำหนักคะแนนเฉลี่ยสะสม หรือ GPA ซึ่ง สพฐ.เสนอให้ใช้สัดส่วนคะแนน GPA ต่อ O-Net ที่ 80:20 อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ตัวอย่าง ยังไม่ใช่ข้อสรุป สพฐ.จะรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ก่อน
        
     
       ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า การนำคะแนน O-Net ซึ่งเป็นการทดสอบระดับชาติมาใช้ประกอบการพิจารณาจบช่วงชั้นนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นและก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตช่วง พ.ศ.2478-2520 รวม 42 ปี เคยมีข้อกำหนดให้นักเรียนที่กำลังจะจบ ม.8 ต้องมาเข้าสอบการทดสอบระดับชาติและได้คะแนนเกิน 50 ขึ้นไป จึงจะจบ ม.8 ทั้งนี้ เพื่อประกันว่า ผู้เรียนที่จบการศึกษานั้น มีความรู้อย่างแท้จริง แต่ในการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2517 หันไปยึดแนวทางการจัดการศึกษาตามแบบสหรัฐอเมริกา และได้ยุติการทดสอบดังกล่าวลงเมื่อปี 2521 เพราะเห็นว่า เป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำของสถานศึกษาชนบท อีกทั้งในยุคนั้น เน้นหลักการกระจายอำนาจทุกด้านไปให้สถานศึกษารวมด้านประเมินและวัดผลด้วย เด็กจะจบไม่จบให้อำนาจพิจารณาอยู่ที่สถานศึกษา ไม่ต้องใช้ข้อสอบกลางไปตัดสิน ทั้งยังมองว่า การทดสอบระดับชาติทำให้เกิดปัญหาเด็กตกซ้ำชั้นกันมาก อย่างรุ่นของตนมีคนสอบผ่านแค่ 18% ที่เหลืออีก 82% ต้องรออีก 1 ปี เพื่อมาสอบใหม่ จึงต้องการเปลี่ยนมาใช้ระบบของอเมริกา ที่เรียนเป็นหน่วยๆ ถ้าเด็กเรียนไม่ผ่านในหน่วยใดก็ให้ครูซ่อมเสริมทันทีไปในระหว่างภาคเรียน ไม่ต้องให้เด็กตกซ้ำชั้น ตรงนี้เป็นจุดกำเนิดของระบบเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติที่ใช้มาถึงปัจจุบัน แต่ที่ต่างจากอเมริกา คือ เราให้เด็กเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติเหมือนเขาจริง แต่ไม่ได้เน้นซ่อมเสริมให้เด็ก
     
       “34 ปีที่เราไม่มีการทดสอบกลางก่อนจบการศึกษานั้น ช่องว่างระหว่างสถานศึกษาในชนบทกลับยิ่งเพิ่มขึ้น จำนวนเด็กออกกลางคันก็ไม่ได้ลดลง เพราะฉะนั้น ควรมีการถ่วงดุลการประเมินผลของโรงเรียน ในส่วนของเด็กเอง เมื่อใช้คะแนนการประเมินระดับชาติมาพิจารณาการจบช่วงชั้น ก็จะทำให้เด็กมุ่งมั่นคิด ไม่ใช่คิดว่า เรียนอย่างไรก็ได้เพราะถึงยังไงก็จบ” ศ.ดร.สมหวัง กล่าวและว่า ทั้งนี้ ที่ สพฐ.เสนอตัวอย่างมา 2 แนวทางนั้น ตนเห็นด้วยกับแนวทางที่ 2 มากกว่า
ด้าน รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ.กล่าวว่า ในต่างประเทศ อย่าง เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก อิตาลี นั้น นักเรียนจะต้องผ่านการทดสอบระดับชาติก่อนจบ และสำหรับในกรณีของประเทศนั้น การนำ O-Net มาเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินจบช่วงชั้นนั้น จะทำให้เกิดโรงเรียน ครู เกิดความรับผิดรับชอบ และสนใจพัฒนาการเรียนการสอนให้ดีขึ้น ซึ่งในแนวทางที่ สทศ.คิดไว้ อยากให้เริ่มใช้คะแนน O-Net ร่วมกับคะแนนประเมินของ ร.ร.ในปี 55 ในสัดส่วน 80:20 และเพิ่มเป็น 50:50 ในปี 58 อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวอย่างที่ สพฐ.เสนอมานั้น อยากให้ใช้แนวทางที่ 2 ก่อนในระยะเริ่มต้น เพราะแนวทางแรกนั้น มาตรฐานสูงมาก กลัวว่า สถานศึกษาจะปรับตัวตั้งรับไม่ทัน
       ขณะที่ ดร.อุดมลักษณ์ กูลศรีโรจน์ ตัวแทนครูผู้สอน จาก ร.ร.สาธิตแห่ง ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ก็คงจำเป็นใช้คะแนน O-Net เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินจบการศึกษา แต่ควรจะใช้แค่ 5 กลุ่มสาระ และโดยส่วนตัวไม่เคยด้วยกับสอบ O-Net ทั้ง 8 กลุ่ม เพราะอีก 3 กลุ่มที่เหลือนั้น ยากจะวัดความสามารถแท้จริงของเด็กด้วยการทำข้อสอบปรนัย ต้องวัดจากการปฏิบัติของนักเรียนที่ ร.ร.เพราะฉะนั้น เมื่อนำมาใช้จริงอาจมีแรงต้านจาก ร.ร. และผู้ปกรอง โดยเฉพาะถ้าใช้สัดส่วนสูงถึง 50:50 โรงเรียนจำนวนหนึ่งอาจไม่เห็นด้วย เพราะO-Net วัดความรู้อย่างเดียว แต่ระบบประเมินผลของ ร.ร.ในปัจจุบัน ไม่ได้ประเมินผลจากข้อสอบปลายภาคและกลางภาคอย่างเดียว แต่มีการประเมินผลจากผลงาน และกิจกรรมต่างๆ ด้วย 
     
       ขณะที่ ตัวแทนครูจาก ร.ร.ดังแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะจริงๆ แล้ว ข้อสอบ O-Net เอง ยังเป็นที่ถกเถียงถึงมาตรฐานข้อสอบ มีการออกข้อสอบเกินหลักสูตร หรือตรงตามตำราเรียนหรือไม่ จึงยังไม่ควรเอาข้อสอบดังกล่าวมาตัดสินเด็ก ขณะที่ตัวเด็กเองไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการสอบ O-Net เพราะส่วนใหญ่จะสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยแทน การเข้าสอบ O-Net ก็เพื่อรักษาหน้าให้โรงเรียนเท่านั้น นอกจากนี้ ระบบประเมินผลของที่ ร.ร.พัฒนาไปไกลแล้ว ใช้คะแนนจากการสอบแค่ร้อยละ 40 ที่เหลือเป็นการประเมินจากอื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ แต่กลับมาให้ใช้คะแนน O-Net ซึ่งเป็นข้อสอบวิชาการเป็นตัวตัดสินใจเด็กอีก อย่างนี้ไม่สอดคล้องกับที่เราตั้งเป้าพัฒนาให้เด็กเก่งและดี มีคุณธรรม จริยธรรม น่าจะใช้วิธีอื่นมากกว่าซึ่งการกระทำอย่างนี้ เหมือนกับการบีบเด็ก บีบครู และบีบ ร.ร.มากกว่าจะก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนอย่างแม้จริง
     
       นายสุรพล ธรรมร่มดี ตัวแทนผู้ปกครอง ร.ร.รุ่งอรุณ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ถ้าต้องการให้ใช้ O-Net มาพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้น ทำไมไม่เอาไปใช้ย้อนไปพัฒนาหลักสูตร การจัดการการสอน ทำไมกลับมาลงที่เด็กอีก แทนที่จะมาจับเด็กสอบ น่าจะไปติดตามการสอนจริงของครูในชั้นเรียนเพื่อหาทางปรับปรุงคุณภาพครูมากกว่า ไม่ใช่มาแก้ปัญหาปลายทางโดยลงกับเด็ก มัน ไม่เป็นตรรกะ อยากเห็น นักเรียนจบมีคุณภาพ ทำไมไม่แก้ที่ครู
     
       “ ถ้าเอา O-Net มาใช้ประเมินจบการศึกษาจริง เด็กจะต้องไปติวกันอีก และจะทำให้มีปัญหาเด็กออกกลางคันมากขึ้น พวกผมต้องเดือดร้อน ควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าติวให้ลูก บริหารการศึกษาอย่างนี้ ผู้ปกครองไม่เห็นด้วย เพ่งเล็งเด็กอย่างเดียว ไม่ได้หาทางแก้ครูเลย” ผู้ปกครอง กล่าว
     
       ด้าน นายสิระ สิมมี ประธานคณะกรรมการนักเรียน ร.ร.สวนกุหลาบ กล่าวว่า การใช้คะแนน O-Net ร่วมประเมินจบการศึกษานั้น จะเกิดผลดีแก้ปัญหาเกรดเฟ้อ เพราะปัจจุบันการให้เกรดของ ร.ร.ค่อนข้างต่างกันในแง่ของมาตรฐาน แต่สำหรับการวัดเรื่องอื่นๆ อย่าง คุณธรรม จริยธรรม นั้น เด็กอาจตอบถูกทุกข้อ แต่ในชีวิตจริงเขาอาจไม่ทำจริง ตรงนี้ข้อสอบวัดไม่ได้ รวมถึงวิชาอย่าง กีฬา ดนตรี สอนไม่เหมือนกัน ก็จะวัดได้ยากเช่นกัน ที่สำคัญ คือ สำหรับนักเรียนบางรายที่คิดว่า สอบไม่ผ่าน O-Net แน่ๆ อาจไม่ยอมเรียนต่อ ออกกลางคัน กลายเป็นปัญหาสังคมต่อไป เพราะฉะนั้น ควรมีระบบช่วยเหลือด้านวิชาการให้นักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนต่างจังหวัด นักเรียนที่ยากจนไม่มีเงินจะไปเข้าคอร์สติวได้

เครือข่ายผู้ปกครองชลชาย ONLINE