วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปวดหัวกับ"วัยรุ่นหนีเรียน"เชิญทางนี้ มีทางแก้ดี ๆ มาฝากกัน






เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงรู้สึกวางใจ และสบายใจ

เมื่อได้เห็นว่า ลูกของตนเองแต่งชุดนักเรียนเรียบร้อย หิ้วกระเป๋า ออกเดินทางไปโรงเรียนทุกวัน แถมยังกลับบ้านตรงเวลา


แต่หัวใจของพ่อแม่จะตกไปอยู่ที่ตาตุ่มทันที หากวันที่ลูกควรจะไปโรงเรียน

กลับมีโทรศัพท์จากฝ่ายปกครองของโรงเรียน

โทรมาสอบถามว่า "วันนี้ ....ขาดเรียน เป็นอะไรหรือเปล่าคะ"


ก่อนอื่น คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงต้องยอมรับความจริงที่ว่า การโดดเรียนนั้นเป็นพฤติกรรมปฏิเสธโรงเรียนชนิดหนึ่งที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป

ทั้งในเด็กยุคนี้ และสมัยที่ตัวคุณพ่อคุณแม่เองยังเด็ก


ซึ่งเคยมีงานวิจัยระบุว่า ในเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจำนวน 1,000 คนนั้น จะพบเด็กที่เคยโดดเรียนโดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ทราบ หรือไม่ได้ขออนุญาตอย่างน้อย 1 ครั้ง ราว 400 คน หรือ 40 เปอร์เซ็นต์


แต่หากพ่อแม่เมินเฉยต่อเสียงโทรศัพท์จากโรงเรียนที่โทรมาแจ้งเรื่องการขาดเรียนของเด็ก ปล่อยให้การขาดเรียนของลูกเกิดขึ้นบ่อย ๆ ผลเสียจะตกที่ตัวเด็ก เพราะจะเรียนตามเพื่อนไม่ทันได้ สาเหตุสำคัญเกิดจาก

"การเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก" เช่น


เด็กมีการย้ายห้อง ย้ายโรงเรียน ต้องเจอเพื่อนใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ คุณครูคนใหม่ เปลี่ยนวิชาเรียน ถูกกลั่นแกล้ง ฯลฯ หรือในบางกรณีอาจเกิดจากปัญหาในครอบครัว ที่ทำให้เด็กเกิดความเครียด หรือมีอาการเจ็บป่วยจนไม่อยากไปโรงเรียน


ลูกของคุณกำลังมีปัญหาจนต้องโดดเรียนหรือไม่นั้น สังเกตได้จาก


- ไม่มีการบ้านมานั่งทำเหมือนเด็กคนอื่น ๆ

- ไม่คุยเกี่ยวกับเพื่อน หรือครูที่โรงเรียนให้ฟัง

- หลีกเลี่ยงบทสนทนาเกี่ยวกับโรงเรียน

- ไม่เล่าให้พ่อแม่ฟังว่าตนเองทำอะไรบ้างเวลาอยู่ที่โรงเรียน



ปกติแล้ว ทางโรงเรียนจะติดต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง หากพบว่ามีนักเรียนขาดเรียน ซึ่งหากพ่อแม่ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และแก้ไขอย่างทันท่วงที ก็จะเป็นผลดีต่อเด็กมากกว่าการปล่อยลูกไปตามยถากรรม เพราะจะทำให้เด็กตามเนื้อหาการเรียนไม่ทัน อีกทั้งยังทำให้เด็กขาดความเชื่อมโยงกับ "โรงเรียน" มากขึ้น ๆ



พ่อแม่สามารถให้การสนับสนุน และกระตุ้นให้ลูกไปโรงเรียนได้ ดังนี้

- เปิดใจคุยกับลูกว่าทำไมลูกถึงไม่ต้องการไปโรงเรียน

= รับฟังปัญหา หรือความกลัวในใจลึก ๆ ที่ลูกเป็นอยู่

- ช่วยลูกหาทางแก้ไขปัญหา หรือปรับตัวปรับใจให้ดีขึ้น

- ปรึกษากับคุณครู หรือเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนในการช่วยจัดหาที่ปรึกษา ซึ่งอาจเป็นเพื่อน หรือคุณครู หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการช่วยลูกของคุณจัดการกับปัญหา


- ปรึกษาคุณครูเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการทำให้ลูกของคุณสนใจเนื้อหาการเรียนและมีส่วนร่วมมากขึ้น

- คุยกับพ่อแม่ของเพื่อนลูก เพื่อจะได้มีแนวร่วมช่วยกันกระตุ้นให้เด็กสนใจในการเรียน


นอกจากนี้ พ่อแม่ยังสามารถอธิบายถึงความสำคัญของการไปโรงเรียนให้เด็ก ๆ ทราบด้วยก็ได้ เช่น


- การไปโรงเรียน จะมีวิชาเรียนหลากหลาย และอาจทำให้เด็กดึงศักยภาพของตนเองออกมาได้มากขึ้น หรือค้นพบในสิ่งที่ตนเองถนัดจากการลองทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่โรงเรียน

- การไปโรงเรียนทำให้เด็กได้พบเจอเพื่อน ๆ การมีเพื่อนช่วยให้เกิดเครือข่าย เกิดความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในเวลายากลำบาก

- มีการบ้านสนุก ๆ มาทำ

- มีโอกาสที่จะเกิดพฤติกรรมเสี่ยงน้อยกว่า


นักวิจัยพบด้วยว่า การที่เด็กอยู่ในโรงเรียนนั้นเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย ไม่เฉพาะด้านการศึกษา แต่ยังรวมถึงหน้าที่การงานในอนาคต รายได้ สุขภาพ และความเป็นอยู่ของเขาด้วย


เรียบเรียงจาก Raising Children Network


เครือข่ายผู้ปกครองชลชาย ONLINE