วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รับนักเรียนปัญหาที่แก้ไม่รู้จักจบ


เป็นปัญหามาทุกปีสำหรับการรับนัก เรียนชั้น ม.1 และ ม.4 โดยเฉพาะเรื่องจำนวนรับกับความต้องการที่ยากจะลงตัวซึ่งพุ่งเป้าไปที่โรงเรียนที่มีชื่อเสียง เรียกว่าดีมานด์-ซัพพลายไม่สมดุล ถึงแม้กระทรวงศึกษาธิการจะมีความพยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ไม่อาจขจัดปัญหาให้หมดสิ้นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้ได้เกิด “บดินทร์โมเดล” ที่นักเรียน ม.3 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งไม่ได้รับสิทธิให้เรียนต่อชั้น ม.4 ที่โรงเรียนเดิมออกมาเรียกร้องโดยอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ในประเด็นความเสมอภาคทางการศึกษา กระทั่งเกิดการอดข้าวประท้วง
กรณีนี้จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักระหว่างการรักษากฎกติกาของการได้รับสิทธิในการเรียนต่อโรงเรียนเดิมซึ่งเป็นกติกาที่ปฏิบัติสืบต่อกันมากับสิทธิอันชอบธรรมของนักเรียนเดิมว่าควรจะยึดอะไรเป็นหลัก เรื่องนี้หากจะให้ถกเถียงคงหาจุดลงเอยได้ยาก จากปัญหาดังกล่าว รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล ในฐานะที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ มีมุมมองที่น่าสนใจว่า ปัญหาในภาพรวมของเด็กนักเรียนที่ไม่มีที่เรียนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกปี และหากถามว่าทำไมปัญหานี้จึงเกิดขึ้นทุกปี คงต้องบอกว่า เพราะปัญหาในแวดวงการศึกษามีเยอะทั้งเด็กฝาก แป๊ะเจี๊ยะ เด็กไม่มีที่เรียน ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเกิดเพียงช่วงนี้พอเลยไปก็เงียบไม่มีการพูดถึงวิธีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง


จะว่าไปแล้วการจะแก้ปัญหาเด็กฝาก เด็กไม่มีที่เรียน แป๊ะเจี๊ยะได้จะต้องมองไปให้ถึงสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งมาจากหลายส่วน ประการแรกเพราะทุกคนมองภาพรวมว่ามีที่นั่งเรียนเพียงพอ แต่ในความเป็นจริงมาตรฐานโรงเรียนไม่เท่ากัน และโรงเรียนที่เด็กอยากจะเข้ามีที่นั่งไม่เพียงพอกับจำนวนที่โรงเรียนเปิดรับ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีเกลี่ยไปโรงเรียนอื่น ซึ่งลักษณะการเกลี่ยตามตัวเลขมีความเป็นไปได้ แต่การเกลี่ยตามความเป็นจริงของการเรียนเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อเกลี่ยไปที่หนึ่ง แต่สถานที่ทำงานของผู้ปกครอง และบ้านอยู่ไกลจากโรงเรียนมาก ต้องเสียเวลาในการเดินทาง หรือไม่ก็ต้องขึ้นรถ 2-3 ต่อกว่าจะถึงโรงเรียน ซึ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของความรู้สึก แม้จะยอมรับในกฎเกณฑ์ได้ก็ตาม ดังนั้นไม่ว่าแก้ปัญหาโดยการทำโรงเรียนคู่ขนาน การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนดัง  หรือการจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียม ก็เป็นการให้ความหวังแก่ผู้ปกครองปีต่อ ๆ ไป แต่ถ้าเริ่มทำตามแนวทางที่วางไว้ตั้งแต่ปีนี้ถึงแม้จะสำเร็จในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เมื่อถึงเวลานั้นปัญหาเด็กฝาก หรือไม่มีที่เรียนจะลดน้อยลงได้ ซึ่งนั่นคือการแก้ปัญหาของผู้ที่เดือดร้อนได้อย่างแท้จริงประการที่สอง คือ กลุ่มเด็กที่ถูกเบียดบัง เพราะทุกครั้งมักจะได้ยินว่ามีนโยบายไม่มีเด็กฝาก แต่ในความเป็นจริงก็จะมีเด็กฝากในรูปแบบต่าง ๆ หาช่องว่าง เด็กอุปการคุณ มีข้อยกเว้นต่าง ๆเกิดขึ้นมา แม้จะมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดอย่างไรแต่ก็จะมีการแทรกเข้าไปให้ได้ ดังนั้นพอเด็กกลุ่มนี้ได้เข้าไปก็จะไปเบียดบังกับคนที่จะได้เข้าเรียนจริงหากมีการเรียงลำดับคะแนน 
ประการที่สาม คือ การดูจากเกณฑ์ต่าง ๆ ที่โรงเรียนตั้งไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรณีของการรับนักเรียน ม.3 เดิม ขึ้นเรียนชั้น ม.4 โดยโรงเรียนจะประกาศให้เด็ก
รับรู้ล่วงหน้า  แต่เด็กมักจะตื่นตัวเมื่ออยู่ชั้น ม.2 หรือ ม.3 ถึงแม้จะเน้นที่คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นหลัก แต่บางแห่งก็ให้โอกาสเด็กที่ทำกิจกรรมแต่ก็มักมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เช่น บางปีเน้นตะกร้อหญิงถึงแม้มีเด็กที่เก่งฟุตซอลระดับตัวแทนภาคมาสมัครก็ยังไม่ได้ เพราะไม่ตรงกับนโยบายของโรงเรียน ซึ่งเกณฑ์อย่างนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่สามารถวางแผนให้ตัวเองได้
นอกจากนี้ในส่วนของเกณฑ์การรับ ม.4 ในสัดส่วน  80 : 20 นั้น ก็ต้องมองตั้งแต่การรับเด็ก ม.1 ถ้ารับเข้ามา 300 คน แต่พอขึ้น ม.4 ที่นั่งกลับน้อยลงเหลือ 200 คน ก็ต้องมีนักเรียนหลุดออกไปถึง 100 คน และใน 200 คน นี้ยังต้องมาคิดอีกว่าจะให้เรียนต่อได้ 80% โดยให้เหตุผลว่า คนที่ไม่ได้เรียนต่อชั้น ม.4 อยากให้ไปเรียนอาชีวศึกษา เพราะประเทศขาดกำลังคนด้านอาชีวะอยู่มาก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ตนไม่ชอบเลย เพราะการจะไปกำหนดชีวิตเด็กว่าจะต้องเลือกเรียนอะไร ต้องสามารถบอกได้ว่าเรียนอาชีวะแล้วดีกว่าต่อชั้น ม.4 อย่างไร ต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้ หรือสามารถรับประกันความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ได้ ไม่เกิดปัญหาการทะเลาะวิวาท หรือตีกัน ดังนั้นตนเห็นว่าเมื่อมีการรับเด็ก ม.1 เข้ามา 300 คน ก็ควรให้ทั้ง 300 คน ได้เรียนต่อ ม.4 โดยทางโรงเรียนต้องคำนวณตัวเลขตรงนี้ให้ดี ส่วนเด็กจะเรียนต่อหรือไม่ต้องให้เด็กตัดสินใจเอง ไม่ใช่บอกว่าถ้าให้เด็กขึ้น ม.4 โดยอัตโนมัติทุกคนแล้วเด็กจะไม่ตั้งใจเรียน เพราะการที่เด็กจะตั้งใจเรียนหรือไม่มีปัจจัยหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนมีกึ๋นพอหรือไม่ที่จะทำให้เด็กตั้งใจเรียน โดยเฉพาะครูผู้สอน จะโทษแต่เด็กเรียนไม่ดีไม่ได้ เราต้องดูการสอนของครูด้วย
ในทางปฏิบัติถ้าโรงเรียนสามารถรับเด็ก ม.3 เรียนต่อ ม.4 โรงเรียนเดิมได้ทั้งหมดปัญหาที่เกิดขึ้นจะหมดไป แต่ถ้าบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะครูไม่ค่อยมี งบประมาณก็น้อย ห้องเรียนไม่พอ ก็ต้องมาพิจารณากันตั้งแต่ ม.1 หากห้องเรียนไม่พอแล้วไปขยายห้องเพิ่ม เมื่อเด็กจบ ม.3 อย่าคิดว่าเด็กจะลดลงเอง หรือให้ไปเรียนอาชีวะก็ได้ เพราะถ้าคิดอย่างนั้นจะเกิดปัญหาเหมือนกับสถาบันอุดมศึกษาในเวลานี้ที่มีที่นั่งเรียนเหลือเฟือ เพราะไปกระจุกตัวอยู่ในบางสาขาเท่านั้น 
แนวทางแก้ปัญหานี้คงไม่ใช่แค่เกลี่ยนักเรียนไปเรียนโรงเรียนอื่น เพื่อดูแลเด็กให้มีที่เรียนเท่านั้น เพราะปัญหาจะยังไม่จบหากไม่พอใจโรงเรียนที่จัดสรรให้ แต่ถ้าเป็นโรงเรียนที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกันก็คงพอรับได้ เช่น ไม่ได้บดินทร์ หอวังได้หรือไม่ ซึ่งความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นแนวทางที่จะพัฒนาโรงเรียนคู่ขนานต้องเริ่มได้แล้ว โดยต้องออกมาบอกแผนการพัฒนาให้ชัดเจน เช่น เวลานี้มีหลายโรงเรียนที่มีครูเยอะแต่เด็กไม่ไปเรียน ให้เอาครูเหล่านี้มาช่วยราชการที่โรงเรียนที่เด็กอยากไปได้หรือไม่ โดยอาจให้ช่วยงานธุรการบ้าง เช่น ตรวจการบ้านให้เด็ก ซึ่งน่าจะได้ประสบการณ์และเรียนรู้ว่าการสอนของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทำอย่างไร เพื่อนำกลับไปสอนนักเรียนในโรงเรียนตนเอง
อย่างไรก็ตามหากยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แผนการพัฒนาโรงเรียนยังเป็นแค่แผนโดยไม่มีการขับเคลื่อน รศ.ดร.สุขุมบอกว่า ฟันธงได้เลยว่าปัญหาเด็กไม่มีที่เรียน เด็กฝากไม่ลดลง แต่กลับจะหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะเมื่อมีการตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมา แต่ละปีก็จะมีคนพยายามเล็ดลอด หาช่องทางต่าง ๆ หากถามว่าวันนี้มีรัฐมนตรี หรือนักการเมืองคนใดจะฝากเด็กบ้าง บอกได้เลยว่าไม่มี แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ฝาก ทั้งนี้เพราะไม่ได้ทำเองแต่มีมือทำให้ เพราะถ้าจะให้ฝากเองจริง ๆ จะมีรัฐมนตรีคนไหนจะกล้าเซ็นไปฝากบ้าง ไม่มีทาง เพราะไม่เคยฝากเอง.
credit : K.อรนุช วานิชทวีวัฒน์ from http://www.dailynews.co.th/education/117371

ไม่มีความคิดเห็น:

เครือข่ายผู้ปกครองชลชาย ONLINE