วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เพิ่ม ชม.เรียนประถม - มัธยม คำสั่ง สพฐ.มีผลทันที อ้างแบบเดิมไม่เวิร์ก

  สพฐ.ปรับโครงสร้างเวลาเรียนใน ร.ร.ประถม-มัธยมทั่วประเทศ ให้นักเรียนประถมเรียนมากกว่า 1,000 ชม./ปี จากเดิมให้เรียนไม่เกิน 1,000 ชม.

          เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ลงนามในคำสั่ง สพฐ.ให้แก้ไขโครงสร้างเวลาเรียน และเกณฑ์การจบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพ.ศ.2551 ดังนี้ 

1.ให้กำหนดเวลาเรียนในรายวิชา/ กิจกรรมที่สถานศึกษาจัดเพิ่มเติมตามความพร้อม และจุดเน้น ระดับประถมศึกษา ไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อปี จากเดิมไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อปี และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมงต่อปี จากเดิมไม่เกิน 200 ชั่วโมงต่อปี และ 
2.กำหนดเวลาเรียนรวมระดับประถมศึกษา ไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี จากเดิมไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี จากเดิมไม่เกิน 1,200 ชั่วโมงต่อปี

          แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า คำสั่งดังกล่าวยังได้ปรับข้อความของเกณฑ์การจบระดับมัธยมศึกษาตอนต้นใหม่ โดยกำหนดให้ผู้เรียนเรียนรายวิชาพื้นฐาน และเพิ่มเติม โดยเป็นรายวิชาพื้นฐาน66 หน่วยกิต และรายวิชาเพิ่มเติมตามที่สถานศึกษากำหนด จากเดิมระบุว่าผู้เรียนเรียนรายวิชาพื้นฐาน และเพิ่มเติมไม่เกิน 81 หน่วยกิต

          โดยเป็นรายวิชาพื้นฐาน 66 หน่วยกิต และรายวิชาเพิ่มเติมตามที่สถานศึกษากำหนด ส่วนระดับประถมศึกษาได้กำหนดให้ผู้เรียนเรียนรายวิชาพื้นฐาน และรายวิชา/กิจกรรมเพิ่มเติมโดยเป็นรายวิชาพื้นฐานตามโครงสร้างเวลาเรียนที่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดและรายวิชา/ กิจกรรมเพิ่มเติมตามที่สถานศึกษากำหนด สำหรับเกณฑ์การจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายนั้น ได้ปรับเปลี่ยนใหม่ โดยกำหนดให้ผู้เรียนเรียนรายวิชาพื้นฐาน และเพิ่มเติม โดยเป็นรายวิชาพื้นฐาน 41 หน่วย และรายวิชาเพิ่มเติมตามที่สถานศึกษากำหนด ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

          "สำหรับการแก้ไขโครงสร้างเวลาเรียนดังกล่าว สืบเนื่องจากการศึกษาวิจัยและติดตามผลการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพ.ศ.2551 พบว่าไม่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน และความต้องการของผู้เรียน จึงได้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าวใหม่"แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

          นายชินภัทร กล่าวว่า การแก้ไขโครงสร้างเวลาเรียน และเกณฑ์การจบการศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพ.ศ.2551 ไม่ได้ทำให้นักเรียนต้องเรียนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการโครงสร้างเวลาดังกล่าวไม่ได้เพิ่มชั่วโมงการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ปกติของหลักสูตรแกนกลาง แต่ได้เพิ่มและสร้างความยืดหยุ่นในส่วนของสาระเพิ่มเติมที่เป็นการจัดกิจกรรมต่างๆ ของสถานศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้กำหนดเป็นชั่วโมงการเรียนไว้ แต่ไม่มีการยืดหยุ่นให้กับทางสถานศึกษา ทำให้ไม่สามารถเพิ่มชั่วโมงกิจกรรมต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเวลาดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว แต่คงไม่กระทบกับการจัดการศึกษาของสถานศึกษาเพราะปกติแล้วสถานศึกษาได้จัดการเรียนการสอนตามชั่วโมงขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในโครงสร้างใหม่อยู่แล้ว

          นายวรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่าคุณภาพการศึกษาในปัจจุบัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการลด หรือเพิ่มชั่วโมงเรียน แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการสอนของครูว่าจะบริหารเวลาได้อย่างมีคุณภาพมากแค่ไหน ในสมัยโบราณมีสมมติฐานว่าถ้าเรียนมาก จะทำให้เด็กเก่ง แต่ใช้ไม่ได้กับการเรียนการสอนในปัจจุบันที่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ทั้งจากอินเตอร์เน็ต แท็บเล็ต และสื่อต่างๆ รอบตัว ดังนั้น สิ่งที่ศธ.ควรทำคือ การเพิ่มประสิทธิภาพของครูให้เข้าใจถึงการปรับตัวเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้เข้ากับโลกปัจจุบัน

          "การเพิ่มชั่วโมงเรียนไม่ใช่ทางแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษา แต่ปัญหาอยู่ที่ครูต้องรู้จักประยุกต์ใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพมากกว่า ผมเองคิดว่าการเพิ่ม หรือลดชั่วโมงเรียนของเด็กมันล้าสมัยไปแล้วกับการเรียนการสอนในปัจจุบัน"นายวรากรณ์กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น:

เครือข่ายผู้ปกครองชลชาย ONLINE